ประวัติโรงเรียน-วีดิทัศน์แนะนำโรงเรียน


ก่อนจะมาเป็นโรงเรียนวัฒนานุศาสน์ดังเช่นทุกวันนี้

วัดนักบุญยอแซฟได้มีโรงเรียนเปิดสอนอยู่ก่อนแล้ว เป็นเรือนไม้ชั้นเดียว สร้างโดยบาทหลวงอาแล็กซิส กิม เจ้าอาวาสองค์ที่ 9 (พ.ศ.2462 - 2471) คุณพ่อตั้งชื่อว่า “โรงเรียนนักบุญยอแซฟ” เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-4 มีครูลั้ง โลกาวิทย์ เป็นครูใหญ่และครูประจำชั้นเพียงคนเดียว ต่อมาจึงมีครูนารี ครูวาด ครูส้มเกลี้ยงและครูอัมพันมาช่วยสอนเพิ่มอีก ต่อมาครูพา สีมหาราช ได้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ สมัยนั้นมีการแยกสอนระหว่างนักเรียนชายและนักเรียนหญิง
ปี พ.ศ. 2480 บาทหลวงยอแซฟ พริ้ง เจ้าอาวาสองค์ที่ 10 (พ.ศ. 2471 - 2485) ได้สร้างอาคารเรียนเรือนไม้สองชั้น โดยให้ชื่ออาคารเรียนว่า “โรงเรียนนักบุญยอแซฟ ค.ศ. 1937” ซึ่งอยู่ตรงกับบริเวณหอประชุม “ยอแซฟ 75 ปี” หลังปัจจุบัน
ปลายเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2483 มีเหตุการณ์น่าเศร้าสลดใจเกิดขึ้นอย่างไม่นึกฝัน คือ สงครามอินโดจีน ระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศไทย มีกลุ่มรักชาติกลุ่มหนึ่ง “คณะเลือดไทย” ได้เข้าทำลายวัดและโรงเรียน เพราะเข้าใจผิดว่า ชาวคาทอลิกเป็นพวกเดียวกับฝรั่งเศส โรงเรียนนักบุญยอแซฟก็ได้ปิดตัวเองตั้งแต่บัดนั้น
ครั้นปี พ.ศ. 2489 สงครามสงบ บาทหลวงประพล ธรรมพิชัย เจ้าอาวาสองค์ที่ 11 ได้ทำการบูรณะวัดและโรงเรียนขึ้นใหม่ โดยใช้เรือนไม้ที่เป็นวัดชั่วคราวกั้นห้องชั้นล่างและชั้นบนเป็นห้องเรียน ตั้งชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนวัฒนานุศาสน์” ความหมายว่า “ยอแซฟผู้เจริญวัฒนา” ซึ่งถอดความมาจากนามนักบุญยอแซฟ องค์อุปถัมภ์ของวัดคาทอลิกพนัสนิคม โรงเรียนใหม่ได้รับอนุญาตเปิดสอนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บนเนื้อที่ 6 ไร่ 3 งาน 66 ตารางวา มีบาทหลวงประพล ธรรมพิชัย เป็นเจ้าของ นายอโนทัย กัลยางกูร เป็นผู้จัดการ และครูประดับ วิบูลย์วงศ์ เป็นครูใหญ่ ในปีนั้นมีนักเรียนชาย-หญิง ประมาณ 48 คนเท่านั้น ได้เก็บค่าเล่าเรียนเทอมละ 10 บาท
ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 บาทหลวงประพล ธรรมพิชัย ได้สร้างอาคารเรือนไม้ ตีฝาโปร่ง หลังคามุงจากอีกหลังซึ่งอยู่บริเวณอาคารมารีอาในปัจจุบัน และยังได้ซ่อมแซมอาคารเรียน ค.ศ. 1937 ซึ่งเวลานั้นใช้เป็นบ้านพักซิสเตอร์ประจำวัดพร้อมกับผู้อาสาสมัครอยู่ช่วยวัด และเด็กจากที่ต่าง ๆ ที่มาขออาศัยเพื่อการศึกษา
เที่ยงคืนวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2497 เกิดไฟไหม้ที่วัดนักบุญยอแซฟ บาทหลวงประพล ธรรมพิชัย จึงได้สร้างวัดชั่วคราวขึ้นเป็นหลังคามุงจากตีฝาสังกะสี ต่อมาดัดแปลงเป็นห้องอาหารนักเรียน ในปีนั้นเองคุณพ่อได้สร้างห้อง “วันทามารีอา” ไว้เป็นที่ประชุมคณะพลมารี และภายหลังเมื่อโรงเรียนไม่มีที่พอเรียนจึงได้ดัดแปลงเป็นห้องเรียน
ต่อมาได้รื้อและสร้างบ้านพักบาทหลวงหลังปัจจุบัน
ในปี พ.ศ. 2502 โรงเรียนเจริญก้าวหน้ามากขึ้นได้ขยายชั้นเรียนถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 7
ในปี พ.ศ. 2504 บาทหลวงประพล ธรรมพิชัย เห็นว่าเด็กเล็ก ๆ ควรได้รับการเตรียมพร้อมในการเรียนชั้นสูงต่อไป จึงได้สร้างอาคารเรียนชั้นเดียวขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง และวันที่ 26 เมษายน ได้เปิดสอนระดับอนุบาลเป็นครั้งแรก
ส่วนอาคารหลังนั้นได้มีการต่อเติมชั้นบนในสมัยบาทหลวงวานิช คุโรวาท ปัจจุบันอาคารนี้รื้อออกแล้วและสร้างอาคารเรียนห้าชั้น
ปี พ.ศ. 2506 ได้ขยายชั้นเรียนสูงขึ้นถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (มศ. 3)
ปี พ.ศ. 2511 บาทหลวงอาทร พัฒนภิรมย์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 12 ได้สร้างอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 9 ห้องเรียน
และ อนุญาตให้รับนักเรียนได้ 1,312 คน ปีต่อมาบาทหลวงชนะ สมานจิต เจ้าอาวาสองค์ที่ 13 ได้ต่อเติมอาคารเรียน
คอนกรีต 3ชั้น ทางทิศตะวันออก เพิ่มขึ้นอีก 12 ห้องเรียน ซึ่งเป็นอาคารประถมในปัจจุบัน และคุณพ่อยังได้สร้างสนามบาสเกตบอลอีกด้วย
ปี พ.ศ. 2514 บาทหลวงอารีย์ วรศิลป์ เจ้าอาวาสองค์ที่ 15 ได้จัดฉลองครบรอบปีที่ 25 ของโรงเรียนวัฒนานุศาสน์ ซึ่งมีการจัดการแสดงของนักเรียน จัดทำหนังสืออนุสรณ์ และชุมนุมศิษย์เก่าเป็นครั้งแรก
ปี พ.ศ. 2522 โอนมอบโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนของมิสซังโรมันคาทอลิก จันทบุรี โดยมี บาทหลวงวานิช คุโรวาท
เจ้าอาวาสองค์ที่ 18 เป็นผู้แทนรับใบอนุญาต โรงเรียนได้รับอนุญาตให้จัดตั้งกองลูกเสือครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2522
ปี พ.ศ. 2525 ทางวัดได้ให้ซิสเตอร์คณะรักกางเขนแห่งจันทบุรีมาช่วยบริหารโรงเรียนวัฒนานุศาสน์เป็นครั้งแรกทางคณะรักกางเขนจึงส่งซิสเตอร์ศรีไพร กระทอง มาเป็นครูใหญ่และผู้จัดการ
ปี พ.ศ. 2529 บาทหลวงปรีชา สกุลอ่อน เจ้าอาวาสองค์ที่ 20 ได้รื้ออาคารเรียนหลังเก่าและสร้างหอประชุมเอนกประสงค์ “ยอแซฟ 75 ปี” ขึ้นแทนอาคารเรียนหลังเก่า ปัจจุบันใช้เป็นโรงอาหารของนักเรียนและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดและโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2532 โรงเรียนวัฒนานุศาสน์ได้พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะระดับอนุบาล จึงได้แยกแผนกอนุบาลไปปลูกสร้าง “อาคารพระกุมารเยซู” เป็นอาคาร 2 ชั้น 13 ห้องเรียน
บริเวณบ้านพักบาทหลวงเก่าและได้ทำพิธีเปิดอาคารในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2533 โดยพระสังฆราชเทียนชัย สมานจิต มีซิสเตอร์ลำยงค์ อุ้นวุ้น เป็นครูใหญ่ (พ.ศ. 2531-2534)
ปี พ.ศ. 2534 ซิสเตอร์บุญศรี วิสุทธิอุทัยกุล ย้ายมาทำหน้าที่ครูใหญ่แทนซิสเตอร์ลำยงค์ อุ้นวุ้น ซึ่งต้องเดินทางไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฟิลิปปินส์ ในระยะนี้โรงเรียนได้เร่งรัดเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ มีการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ผู้ปกครองมอบความไว้วางใจส่งบุตรหลานมาเรียนเป็นจำนวนมาก
ปี พ.ศ. 2537 บาทหลวงวัชรินทร์ สมานจิต ได้พัฒนาปรับปรุงในด้านอาคารสถานที่ เพื่อรองรับกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านการศึกษาและจำนวนของนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ได้ต่อเติมอาคารพระกุมารเยซูเป็นสามชั้น สร้างศาลาแปดเหลี่ยม ปรับปรุงถนนภายในบริเวณโรงเรียนเป็นถนนราดยางทั้งหมด สร้างอาคารเรียน 5 ชั้น (อาคารอนุสรณ์ 50 ปี) ประกอบด้วย ห้องธุรการ ห้องเรียน 9 ห้อง ห้องดุริยางค์ ห้องโสตทัศนูปกรณ์ ห้องพักครู ห้องคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนภาษาอังกฤษ (Sound Lab) สร้างอาคารสามชั้น 2 ห้อง ใช้สำหรับเรียนวิทยาศาสตร์ สร้างสนามบาสเกตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามฟุตบอลพร้อมอัฒจันทร์เชียร์กีฬา สร้างบ้านพักครูชาย 1 หลัง และครูหญิง 1 หลัง
ปี พ.ศ. 2540 บาทหลวงมานพ ปรีชาวุฒิ ได้จัดให้มีห้องคอมพิวเตอร์ระดับอนุบาลและระดับประถมศึกษา
ห้องประชาสัมพันธ์ หลังคาจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ทางเดินเท้าของนักเรียน และได้มีการพัฒนาทางด้านวิชาการให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านภาษาอังกฤษ
ปี พ.ศ 2543 - 2547 บาทหลวงบรรจง พานุพันธ์ ได้ปรับปรุงห้องสมุด ปรับปรุงห้องโสตทัศนูปกรณ์ จัดระบบเอกสาร ระบบบัญชี ปรับปรุงอาคารสถานที่ สวนหย่อม ห้องพยาบาล ห้องเรียนภาษาอังกฤษ (Sound Lab) ห้องพัฒนาการอนุบาล ห้องศิลปะ ห้องพักครู บริเวณที่จำหน่ายอาหาร สวนสมุนไพร ห้องดนตรี ห้องคำสอน ห้องดุริยางค์ ห้อง FUN FOR KIDS นอกจากนี้ยังพัฒนาปรับปรุงสวนหย่อมหน้าอาคารอนุสรณ์ 50 ปี สร้างสวนเกษตรและสมุนไพรให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้เรียน ปรับปรุงสนามและอาคารปฐมวัย พัฒนาระบบการบริหารงานโรงเรียนโดยใช้โปรแกรม MAS School
ปี พ.ศ. 2548 – 2552 บาทหลวงพินันต์ พรประสิทธิ์ ได้พัฒนาอาคารสถานที่อย่างต่อเนื่อง โดยได้ปรับพื้นถนนและปูตัวหนอนด้านข้างโรงอาหาร จัดซ่อมฝาท่อระบายน้ำรอบบริเวณโรงเรียนและทาสีรั้วโรงเรียนโดยรอบ ปรับปรุงและทาสีอาคารอาคารปฐมวัย เปลี่ยนกระเบื้องหลังคาอาคารปฐมวัยใหม่ ต่อเติมห้องสมุด ห้องพยาบาล และปรับปรุงสวนหย่อม ปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์ระดับประถมศึกษา และจัดซื้อคอมพิวเตอร์ระดับมัธยมศึกษา ปรับปรุงและทาสีอาคารอนุสรณ์ 50 ปี อาคารประถม ปรับปรุงสวนหย่อมด้านหน้าอาคารประถม และบริเวณสนามหน้าถ้ำแม่พระ
ปี พ.ศ. 2551 ดำเนินงานก่อสร้างอาคารมารีอาและมินิมาร์ท ซุ้มขายของ 2 หลัง บริเวณศาลาแปดเหลี่ยม
ปี พ.ศ. 2552 ต่อเติมหลังคาอาคาร 50 ปี และอาคารพระกุมารเยซู ขยายทางเดินเท้าบริเวณหน้าป้อมยามถึงศาลาแปดเหลี่ยม ทำทางเท้าหน้าสนามหน้าถ้ำแม่พระ ปรับปรุงและตกแต่งสวนหย่อมบริเวณอาคารมารีอาและหน้ามุขอาคาร 50 ปี ทำหลังคาคลุมทางเดินแนวถนนด้านข้างอาคารพระกุมารเยซูถึงศาลาแปดเหลี่ยม
ปี พ.ศ. 2553 บาทหลวงสุดเจน ฝ่นเรือง ปรับปรุงห้องประชุมอาคารประถม ทำทางเดินเท้าหน้าหอประชุม 75 ปี ปูพื้นชั้นล่าง ด้านหลังอาคาร 50 ปี ปรับปรุงห้องคอมพิวเตอร์และติดตั้งระบบ Internet ปรับปรุงเรือนเกษตรให้เป็นศูนย์
การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยขยายพื้นที่เพิ่มไปอีกฝั่งคลองและทำสะพานข้ามให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้
ปี พ.ศ. 2554 ได้ปรับปรุงต่อเติมห้องพักครู ห้องปฏิบัติธรรม ติดตั้งหน้าต่างบานเลื่อน อาคารอนุสรณ์ 50 และก่อสร้างเรือนเศรษฐกิจเพิ่ม 1 หลัง
ปี พ.ศ.2555 จัดตั้งศูนย์ O-TOP ของโรงเรียน สนับสนุนการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาทางด้านภาษา มีครูต่างชาติสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีนจำนวนมาก ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสะอาด ร่มรื่นและสวยงาม จัดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีครูแนะแนวเต็มรูปแบบ เพิ่มจำนวนบุคลากรให้พอเหมาะกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งเสริมกิจกรรมสัมพันธ์กับชุมชน มีเครือข่ายผู้ปกครอง และปรับปรุงระบบสารสนเทศใหม่ทั้งระบบ
ปี พ.ศ. 2556 เพิ่มจำนวนห้องเรียนอาคารปฐมวัยเป็น 5 ห้อง ห้องเรียน Mini English Program 1 ห้อง เพิ่มห้องภาษาอังกฤษ มีการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ พลศึกษา เป็นภาษาอังกฤษ ปรับปรุงห้องสารสนเทศ และปรับปรุงห้องวิทยาศาสตร์
ปี พ.ศ. 2557 พัฒนาภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้มีบรรยากาศของการเรียนรู้และพัฒนาการตามปรัชญาของโรงเรียนจัดทำห้องเรียนเชิงบูรณาการในศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพิ่ม 1 หลัง และจัดพื้นที่บริเวณต่างๆ ในโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ทำให้โรงเรียนมีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้
ปี พ.ศ. 2558 บาทหลวงดร.สมจิตร พึ่งหรรษพร ได้พัฒนาอาคารสถานที่ในโรงเรียนจัดซื้อโทรทัศน์และวีดีทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในทุกห้องเรียน และติดตั้งเครื่องโปรเจคเตอร์ในห้องประชุมซ่อนกลิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ในการประชุมสัมมนาและการอบรมต่าง ๆ ปรับปรุงซ่อมแซมและทาสีพื้นสนามกีฬาในอาคารมารีอา ทำกันสาดอาคารเรียนและอาคารมารีอา ซ่อมแซมห้องน้ำและท่อระบายน้ำ ปรับปรุงถนนคอนกรีตบริเวณทางเข้าตลอดแนวถึงประตูสุสาน และปรับปรุงหลังคาโรงอาหารอาคารพระกุมารเยซู
ปี พ.ศ. 2559 ซ่อมแซมถนนบริเวณรอบโรงเรียน เพิ่มห้องเรียนระดับปฐมวัย ปรับปรุงห้องน้ำ ซ่อมแซมหลังคาและพื้นห้องเรียนระดับปฐมวัย ขยายพื้นที่อาคารมารีอา ปรับปรุงโรงอาหารของระดับปฐมวัยให้มีพื้นที่กว้างมากขึ้น
สร้างห้องน้ำในอาคารระดับปฐมวัยเพิ่ม ปรับปรุงศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและภูมิปัญญาท้องถิ่น ย้ายเสาธง ซ่อมแซมกันสาดและต่อเติมหลังคาอาคารมารีอา สร้างเวทีถาวรขนาดใหญ่ในอาคารมารีอา ปรับปรุงอัฒจันทร์เชียร์กีฬา ปรับปรุงห้องน้ำในหอประชุมยอแซฟ 75 ปี จัดซื้อพัดลมขนาดใหญ่ติดตั้งในโรงอาหาร ต่อเติมห้องประชุม ชั้น 6 อาคารอนุสรณ์ 50 ปี และ ซื้อที่ดินที่ติดกับที่ดินของวัดนักบุญยอแซฟ พนัสนิคม ฝั่งคลองด้านข้างโรงเรียน พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ซึ่งเป็นผืนที่คั่นกลางที่ดินของวัด เพื่อจะได้ให้เป็นผืนเดียวกัน และจะสามารถพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว โดยใช้งบประมาณจากวัดและโรงเรียนเอง ในราคา 6,000,000 บาท (หกล้านบาทถ้วน)
ปี พ.ศ. 2560 เริ่มการก่อสร้างอาคารปฐมวัยใหม่ต่อเติมจากเดิม ซึ่งจะประกอบด้วยห้องเรียน 15 ห้อง ห้องสหกรณ์อนุบาล มีสระว่ายน้ำ ห้องน้ำ ห้องประชุม จุคนได้ 600 คน และมีห้องปฏิบัติการภาษาและห้องคอมพิวเตอร์ด้วยขยายห้องเรียนเพิ่ม
โรงเรียนวัฒนานุศาสน์บริหารงานโดย บาทหลวง ดร.สมจิตร พึ่งหรรษพร ดำรงตำแหน่ง ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการ มีซิสเตอร์ศรีธารา รุ่งเรือง เป็นผู้อำนวยการ มีครู 147 คน พนักงาน 34 คน และนักเรียน 2,593 คน โรงเรียนให้ความสำคัญในการจัดการศึกษาตามหลักปรัชญาการศึกษาคาทอลิก เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในมิติต่างๆ อย่างสมดุล เน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข มีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีงาม ให้ความเข้มข้นด้านภาษา พัฒนาทักษะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิต จัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง ความต้องการของสังคมในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างการก่อสร้างอาคารเรียนระดับปฐมวัยใหม่ เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และ สภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้มีความสวยงามและเกิดประโยชน์สูงสุดภายในโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2563 โรงเรียนวัฒนานุศาสน์บริหารงานโดย
บาทหลวง ดร.ลือชัย จันทร์โป๊ ดำรงตำแหน่ง 
ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต - ผู้จัดการ
และบาทหลวงอันตน ภัทร์ติยะ อินทวัน รองผู้อำนวยการโรงเรียน
มีซิสเตอร์นงลักษณ์ สันจิตร เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน
ปี พ.ศ. 2565 โรงเรียนวัฒนานุศาสน์บริหารงานโดย
บาทหลวง ดร.ลือชัย จันทร์โป๊ ดำรงตำแหน่ง 
ผู้ลงนามแทนผู้รับใบอนุญาต - ผู้จัดการ และประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียน
และบาทหลวง ดอมินิก ซาวีโอ โสภณ ลือดัง รองประธานคณะกรรมการบริหารโรงเรียน
มี
ซิสเตอร์ เวรอนีกา กัลยา ยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน

 

More...

Visitors: 1,178,399